ก่อน พ.ศ.2515 เมื่อนักเรียนในเขตอำเภอดอกคำใต้ ที่สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาแล้ว ผู้ปกครองที่มีฐานะดีจะส่งบุตรหลานไปเรียนในเวียง (อำเภอเมืองพะเยาในปัจจุบัน) ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน มักจะให้ลูกชายบรรพชาแล้วศึกษาต่อที่โรงเรียนพินิตประสาธน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดศรีอุโมงค์คำ (วัดสูง) โดยจะไปอาศัยอยู่ ตามวัดต่าง ๆ ในเมือง สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ ได้แก่ นักเรียนชายที่ไม่ได้บวชเรียนและนักเรียนหญิงจะไม่ได้เรียนต่อต้องอยู่กับบ้าน ช่วยเหลือผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย |
พระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ (พระมงคลวัฒน์ในปัจจุบัน) เจ้าอาวาสวัดบุญเกิด ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอดอกคำใต้ในขณะนั้น ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงริเริ่มคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นในอำเภอดอกคำใต้ เพื่อให้บุตรหลานของชาวบ้าน ที่ตกค้างอยู่ได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น หวังเพียงว่าเมื่อจบออกไปแล้วจะเป็นคนดีของสังคมและกลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต จึงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าพ่อปฐม เชื้อเจ็ดตน (เชื้อเจ็ดองค์) และคุณครูประยูร อินทร์ต๊ะวงศ์ หาลู่ทางในการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอดอกคำใต้ และได้ทราบว่าการจะขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษานั้น ชุมชนจะต้องหาที่ดินอย่างน้อย 35 ไร่ และโอนที่ดินนั้น เป็นชื่อของกรมวิสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการเสียก่อน จึงจะพิจารณาอุนมัติให้จัดตั้งได้ ท่านจึงได้เรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนกลุ่มพ่อค้า ข้าราชการและประชาชนชาวดอกคำใต้ เพื่อขอความร่วมมือและสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำอำเภอดอกคำใต้ โดยพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ได้ ประเดิมมอบที่ดินซึ่งเป็นมรดกของตนเองประมาณ 10 ไร่ ให้เป็นที่จัดตั้งโรงเรียน |
---|
ในที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1. จัดงาน “ธุดงค์รุกขมูล” ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งและรับบริจาคเงินสมทบซื้อที่ดิน เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในขณะที่ “ท่านพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์” หรือหบวงปู่ก้ำ ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ท่านพระอาจารย์ถนัด ปริปุณโณ เจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวง จุดเทียนจะเข้าจำวัดในเพิงพัก ได้พบกับงูตัวหนึ่งที่ในบริเวณที่นอน สะดุ้งตกใจ ได้เรียกพระภิกษุสามาเณรให้เข้ามาดูและให้ไปแจ้ง “ท่านพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์” หรือหลวงปู่ก้ำได้เข้ามาดู ท่านได้บอกบอกให้พระภิกษุสามเณร เอาไม้ไล่งูตัวนั้นไป แต่งูไม่ยอมเลื้อยไปไหน จึงได้นำงูตัวที่พบไปไว้ในตู้กระจกที่รับบริจาค เพื่อจะนำไปปล่อย ตอนรุ่งเช้าคณะจึงเข้าไปดูและเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจทั้งคณะ ที่ได้เห็นงูคายเอาวัตถุบางอย่างออกมาจากปาก “ท่านพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์” หรือหลวงปู่ก้ำ และคณะพระภิกษุสงฆ์สามเณร จึงได้นำวัตถุที่งูคายออกมาดู จึงได้รู้ว่าเป็นวัตุหินสี่เหลี่ยม หรือที่ชาวบ้านล้านนาเรียกว่า “เป็ก” (ข้าวตอกพระร่วง) ซึ่งคุณสมบัติของเป็กนั้น คนโบราณในล้านนามีความเชื่อว่าป้องกันสุนัขกัดและแม้ถูกกัดก็ไม่เข้า หนังเหนียว ไว้ใช้ป้องกันการชกต่อย และใครได้ครอบครองก็จะมีแต่ความร่มเย็น ซึ่งได้สันนิษฐานว่างูตัวนั้นอาจเป็นพญานาคมาร่วมพิธี คณะจึงตั้งจิตอธิษฐานภาวนาให้การก่อตั้งโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม จงมีแต่ความราบรื่นประสบความสำเร็จ จึงได้นำงูตัวนั้นไปปล่อย (ปัจจุบันหลวงปู่ได้นำเป็กไปบรรจุไว้ใบยอดโมลีพระเศาของพระเจ้า 28 องค์ในพระวิหาร)
2. มอบหมายให้เจ้าพ่อปฐม เชื้อเจ็ดตน (เชื้อเจ็ดองค์) และคณะไปดำเนินการขอบริจาคเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อนำมาซื้อที่ดินเพิ่มเติม3. มอบหมายให้คุณครูประยูร อินต๊ะวงศ์ และคณะไปดำเนินงานเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกับกรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการทั้ง 3 กิจกรรมมีพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเป็นกรรมการร่วมกับคณะไปขอบริจาคเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย |
สรุปเรียบเรียงตามปีพุทธศักราช ได้ดังนี้พ.ศ.2512-2513 พระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ ได้บริจาคที่ดิน จำนวน 10 ไร่ และได้รับเงินบริจาคจากการทำบุญ และเงินบำรุงท้องถิ่น 40,500 บาท ซื้อที่นาจำนวน 14 ไร่ จากนายโต ศรีบัวบาน นอกจากนั้นนางน้อย ปัญญา บริจาคที่นาของตนเอง สำหรับทำเป็นถนนสาธารณะ เข้ามายังพื้นที่ของโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม (ถนนห้องประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน)พ.ศ. 2514 กองสลากกินแบ่งรัฐบาลได้บริจาค 55,000 บาท ซื้อที่นาของนายตุ้ย เลิศทำ จำนวน 15 ไร่ และบริจาคเพิ่มอีก 2 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 38 ไร่ 76.5 ตารางวา (รังวัดตรวจสอบเมื่อ พ.ศ.2532) |
---|
- พ.ศ.2515 เปิดทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2515 (วันสถาปนาโรงเรียน) โดยอาศัยเรียนที่โรงเรียนดอกคำใต้ประถมศึกษาตอนปลาย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 46) เปิดสอนแบบสหศึกษา มีนายเกษม จันทมณีโชติ รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ และมีครูบรรจุใหม่ 2 อัตรา นักเรียน 2 ห้องเรียน จำนวน 69 คน
- พ.ศ.2516 ผู้ปกครองได้บริจาคเงินสร้างอาคารชั่วคราว 16,350 บาท และได้ย้ายมาสอนในที่ดินของโรงเรียนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายรัศมีบ้านกลาง เป็นครูใหญ่คนแรก
- พ.ศ.2523 ได้เริ่มเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- พ.ศ.2532 พระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม ได้บริจาคเงิน 300,000 บาท ซื้อที่นาจัดทำสนามกีฬา จากนายทุ้ง นันตาลิต จำนวน 7 ไร่
- พ.ศ.2534 พระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม ได้บริจาคเงิน 70,000 บาท ซื้อที่ทางเข้าโรงเรียนจากนายชูศักดิ์ นักปราชญ์ และนายณรงค์ นักปราชญ์ จำนวน 31 ตารางวา และในปีเดียวกันโรงเรียนได้สร้างพระบูชารูปลอยองค์ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว และรูปปั้นพระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ ท่ายืนขนาดเท่าตัวจริง เพื่อให้ครู นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนได้กราบไว้ สักการบูชา
- พ.ศ.2535 โรงเรียนได้รับเสด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ.2536 สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนดอกคำใต้วิทยคม มอบเครื่องคอมพิวเอตร์พร้อมปริ้นเตอร์ จำนวน 1 ชุดเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท
- พ.ศ.2544 พระครูสุวรรณคณาภิรักษ์ บริจาคเงินสร้างอาคารพลศึกษา(อาคารมงคลวัฒน์ หรือศาลาแดง) ให้โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม 1 หลัง เป็นเงิน 109,000 บาท
- พ.ศ.2548 โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม และสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม ได้ร่วมกันซื้อที่ดินบริเวณที่ติดกับด้านหลังโรงเรียนจำนวน 1 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา เป็นเงิน 550,000 บาท จากนางจันทร์ ปัญญา เพื่อขยายพื้นที่โรงเรียนและได้สร้างอาคารหอสมุดชุมชนอินเทอร์เน็ตขึ้น
- ปี 2552 โรงเรียนได้ทำการพัฒนาอาคารต่าง ๆ โดยการปูกระเบื้อง เทพื้นทางเดินอาคาร ปรับปรุงโรงอาหารให้มีพื้นที่มากขึ้น จัดสวนหย่อมให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน ติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มและเพิ่มพื้นที่สำหรับน้ำดื่มให้แก่นักเรียน ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลนักเรียนให้ทั่วถึงตามมุมอับต่าง ๆ และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการสร้างอาคารห้องสมุดเพิ่มเติมอีก 1 หลัง ถัดจากห้องสมุดเดิม
- ปี 2552 โรงเรียนได้ทำการทาสีอาคารทั้ง 3 หลัง คืออาคาร 1,2 และ 3
- ปี 2553 โรงเรียนได้ทำการทาสีอาคารเรียนและอาคารประกอบ
- ปี 2555 โรงเรียนได้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร 1
- ปี 2556 โรงเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณทำร่องระบายน้ำหน้าอาคาร 3
- ปี 2557 ปรับปรุงอาคารเรียนโดยการทาสีอาคาร ซ่อมฝ้าเพดาน ปรับซ่อมทางระบายน้ำ สร้างศาลาที่พักนักเรียน 1 จุด ใช้งบประมาณชมรมผู้ปกครอง 150,000 บาท
- ปี 2558 ปรับปรุงอาคารเรียนอาคารประกอบ จำนวน 6 ห้อง สร้างต่อเติมเชื่อมอาคารห้องสมุด 1 หลัง ปรับปรุงน้ำพุอุทยานการเรียนรู้ 1 จุด
- ปี 2559 ติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย 2 จุด ทำบ่อดักไขมัน สร้างโรงเก็บขยะ ปรับปรุงห้องน้ำครู (ฝั่งวิชาการ) อาคารราชพฤกษ์ ปรับปรุงห้องน้ำนักเรียน สร้างห้องน้ำครูอาคารคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระแนงเหล็กหลังหอประชุม 2 ข้าง ติดตั้งประตูใต้บันใดอาคารราชพฤกษ์ 2 ข้าง สร้างศาลาที่พักนักเรียน ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังคาอาคารเรียน 316ค (อาคารราชพฤกษ์) ปรับปรุงสนามฟุตบอล ซ่อมแซมบ้านพักครู ซ่อมแซมอาคารเรียน ซ่อมแซมถนน ซ่อมอาคารเรียนประกอบ ติดตั้งรางระบายน้ำ ติดตั้งเตาเผาขยะ ปรับปรุงภูมิทัศน์น้ำตก ซ่อมแซมหลังคาอาคารเรียน อาคารหอประชุม และโรงอาหาร ปรับปรุงภูมิทัศน์แปลงเกษตร ซ่อมแซมประตูหลังโรงเรียน
- ปี 2563 โรงเรียนได้รับจัดสรรงประมาณจาก สพฐ. สร้างอาคารเรียน 324
ปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2561) โรงเรียนดอกคำใต้วิทยาคม มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 47 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา โรงเรียนได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา ทั้ง 3 รอบ จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรอบที่ 1 (พ.ศ.2544-2548) รอบที่ 2 (พ.ศ.2549-2553) และรอบที่ 3 (พ.ศ.2554-2558) และจะได้รับการประเมินรอบที่ 4 ปี พ.ศ.2559